YouTube 101: วิธีทำคลิปบนยูทูปสำหรับมือใหม่

Feb 2 / IkonClass Staff
ในบทความก่อนหน้า เราได้พูดถึงวิธีการสร้างเงินจากช่อง YouTube (ยูทูป) ผ่าน YouTube Partner Program (YPP) ในบทความนี้ IkonClass ขอนำเสนอวิธีการสร้างคอนเทนต์บนยูทูป ตั้งแต่ต้นจนจบสำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยสร้างคอนเทนต์หรือถ่ายทำวิดีโอ
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับช่างภาพแฟชั่นมือ 1 ของประเทศไทย

1. เลือกหมวดหมู่

ช่องยูทูปในประเทศไทยที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดมักจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับวิดีโอเกม ไลฟสไตล์ หรือการรีวิวอาหาร ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว คอนเทนต์ของยูทูปจะสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่เช่นนี้ :
  • Explainers : เป็นแนววิดีโอที่ใช้สำหรับการอธิบายหัวข้อบางอย่างเช่น การศึกษา คอนเทนต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การเงิน การพัฒนาตัวเอง หรือถ้าเป็นในเชิงพาณิชย์ คอนเทนต์ลักษณะ Explainer จะถูกใช้ในการอธิบายข้อดีของสินค้าหรือการบริการ สามารถถ่ายทำโดยใช้พิธีกรและนักแสดง หรือ ทำในรูปแบบของ Animation ก็ได้เช่นกัน
  • Tutorials : เป็นแนววิดีโอบนยูทูปที่เน้นการสอนทักษะให้แก่คนดู ยกตัวอย่างเช่น “สูตรทำผัดกะเพรา” “วิธีประกอบคอม” “วิธีแต่งหน้าลุคเกาหลี” หรือ “วิธีสร้างโต๊ะไม้ DIY” เป็นต้น
  • Favorites : เป็นการทำวิดีโอแนว “จัดอันดับ” ยอดเยี่ยม หรือ ยอดแย่ตามความคิดเห็นของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ หรืออื่น ๆ
  • Vlogs : เชื่อว่า Vlogs เป็นแนววิดีโอที่คนไทยน่าจะคุ้นชินมากที่สุด การ Vlogs ก็คือการอัดวิดีโอของอินฟลูเอนเซอร์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของพวกเขาในชีวิตประจำวัน ในโอกาสพิเศษ ในงานอีเว้นท์ ในงานกิจกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นสไตล์การถ่ายทำที่เน้นความเป็นมิตรและความใกล้ชิดระหว่างอินฟลูเอนเซอร์กับคนดู
  • Hauls : เป็นแนววิดีโอบนยูทูปที่อินฟลูเอนเซอร์อวดสิ่งของที่ซื้อมา เช่นวิดีโอแนวซื้อของกิน/ของใช้เข้าบ้าน ช้อปปิ้งเสื้อผ้า ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ซื้อรถ ฯลฯ โดยที่ผู้ซื้อ (คนทำวิดีโอ) จะถ่ายทำและสื่อสารว่าเขาได้ใช้ตังค์เท่าไหร่ รวมไปถึงการบอกเล่าประโยชน์ของสินค้า หรือประสบการณ์ในการซื้อ
  • Reviews : และหมวดหมู่อันสุดท้ายก็คือ “การรีวิว” สินค้า ประสบการณ์ หรือการบริการบางอย่าง เช่น การรีวิวอาหาร รีวิวหนัง รีวิวเกม รีวิวสถานที่เที่ยว รีวิวรถยนต์

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหมวดหมู่อื่นที่เกิดขึ้นใหม่ทุกปี ยกตัวอย่างของการทำวิดีโอ Mukbang วิดีโอ ASMR หรือการทำ Podcast ที่ต่างได้รับความสนใจเป็นอย่างมากบนช่องทาง YouTube แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการเลือกหัวข้อที่คุณถนัดและชอบมากที่สุด เพราะถ้าคุณเลือกหัวข้อที่คุณสนใจอยู่แล้ว คุณก็จะมีแรงบันดาลใจในการทำวิดีโอมากกว่าการเลือกทำคอนเทนต์ตามเทรนด์ 

2. ศึกษากลุ่มเป้าหมายคนดู

การทำวิดีโอบนยูทูปจะต้องคำนึงถึงเป้าหมายกลุ่มคนดู เพราะจะเป็นตัวชี้แนะว่าคอนเทนต์ของคุณควรมีเนื้อหาอะไรและควรทำออกมาในสไตล์ไหน
  • ศึกษาข้อมูลประชากร เช่น อายุ อาชีพการงาน ถิ่นที่อยู่ ทำความเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มอายุหรืออาชีพต้องการข้อมูลแบบไหน ชอบดูวิดีโอสไตล์ไหน หรือแม้แต่การใช้ภาษาพูดให้เหมาะสมกับกลุ่มคนดูก็สำคัญเป็นอย่างมาก
  • ศึกษาพฤติกรรมของคนดู เช่น กลุ่มคนดูของคุณ (หรือเป้าหมายกลุ่มคนดู) มีนิสัยอย่างไร มีไลฟสไตล์แบบไหน มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการใช้ชีวิต รวมไปถึงพฤติกรรมออนไลน์ ว่าพวกเขาชอบเสพคอนเทนต์สไตล์ไหนและเสพผ่านช่องทางอะไร และพฤติกรรมออฟไลน์ เช่นพวกเขามีงานอดิเรกอะไร ชอบซื้อผลิตภัณฑ์อะไร ใช้เวลากับการทำอะไรมากที่สุด

ซึ่งการคำนึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณคิดคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้นและตรงต่อกลุ่มเป้าหมายคนดู

3. ศึกษาคอนเทนต์

เมื่อมีเป้าหมายกลุ่มคนดูแล้ว ต่อมาก็คือการดูและศึกษาคอนเทนต์ที่อยากทำ สามารถทำได้ดังนี้ :
  • เริ่มจากการวิเคราะห์คอนเทนต์ที่เราชอบดูอยู่เป็นประจำ หาข้อดีและข้อที่ควรปรับปรุง
  • ลองพิมพ์คียเวิร์ดของหัวข้อที่คุณเลือกบนช่องเสิร์ชของ YouTube และให้ดูว่ายูทูปแนะนำ Auto-fill อะไร สิ่งที่ยูทูปแนะนำมักจะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ส่วนมากเสิร์ชหา สมมุติว่าคุณต้องการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเมนูผัดกะเพรา ให้ลองพิมพ์ในช่องเสิร์ชว่า “สูตรผัดกะเพรา” และลองดูว่า Auto-fill จะแสดงผลลัพธ์อะไรให้คุณ ซึ่งประโยค Auto-fill นั้น ๆ มักจะเป็นสิ่งที่คนส่วนมากใช้ค้นหา
  • วิเคราะห์วิดีโอต่าง ๆ ด้วยการอ่าน Comment เพื่อหาข้อติชมและนำมาปรับใช้ในวิดีโอของตัวเอง หลายคนอาจจะมองข้าม Comment ของวิดีโอ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นแหล่งของการหาข้อติชมที่ชัดเจนมากที่สุด เพราะคนดูส่วนมากมักจะทิ้งข้อความชมหรือข้อแก้ไขบางอย่างที่คนทำคอนเทนต์ควรนำไปปรับปรุง

4. เลือกชนิดวิดีโอ

บนแพลตฟอร์ม YouTube จะมีวิดีโออยู่สองประเภทหลัก ซึ่งทั้งสองก็จะมีประโยชน์และจุดประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน :
  • Long-form : เป็นวิดีโอชนิดยาวที่มีอยู่ทั่วไปตามช่องยูทูป เหมาะกับวิดีโอที่ต้องมีการอธิบายเชิงลึกหรือการชี้แจงบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ภายใน 60 วินาที แต่อุปสรรคของ Long-form ก็คือการทำให้คนดูคลิ้กเข้ามาดูจนจบหรือดูจนกว่ายูทูปจะนับยอดดู ต้องมีการคิดและจัดวางคอนเทนต์ให้น่าสนใจเพื่อรักษาระดับความสนใจของคนที่เข้ามาชม
  • Short-form : ในปี 2020 YouTube ออกระบบการอัปโหลดชนิดใหม่ที่ชื่อว่า “YouTube Shorts” หรือเทียบเท่ากับ Instagram Reels หรือ TikTok ซึ่ง YouTube Shorts สามารถรองรับระยะเวลาของวิดีโอเพียงแค่ 60 วินาทีต่อคลิป เหมาะกับการใช้แสดง Highlight จากวิดีโอ Long-form เพื่อเพิ่มการมองเห็นของช่อง หรือเหมาะสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เน้นการทำคลิปสำหรับคนที่ชอบดูคลิปสั้น 

5. ร่างแผนการถ่ายทำ

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการถ่ายทำวิดีโอ การทำยูทูปในช่วงแรกก็อาจจะเป็นอุปสรรคได้ ถ้าคุณกำลังสับสนและไม่รู้จะเริ่มยังไง ให้ลองใช้เช็คลิสต์ด้านล่างในการวางแผนของคุณ ซึ่งหลักการง่าย ๆ ของการถ่ายทำก็คือให้เริ่มจากการนึกถึง Final product ว่าคุณอยากให้วิดีโอออกมาเป็นยังไง เช่น อยากให้วิดีโอเล่าเรื่องหรือสื่อข้อความอะไร มีช็อตแบบไหน มีโทนสีอะไร และทำการแยกปัจจัยต่าง ๆ ออกมาเป็นหัวข้อย่อยเพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น :
  • ตั้งงบประมาณในการถ่ายทำ
  • สำรวจอุปกรณ์ที่มีและใช้ได้ เช่น กล้องมือถือหรือกล้องถ่ายวิดีโอ ? ต้องใช้อุปกรณ์ไมค์แบบไหน ? ต้องใช้ขาตั้งกล้องหรือด้ามจับ ?
  • ในวิดีโอมีใครเป็นตัวหลัก ? ต้องมีตัวประกอบไหม ? แล้วเบื้องหลังต้องจ่ายใครมาช่วยถ่ายทำหรือเปล่า ?
  • สถานที่ถ่ายทำ ที่บ้าน ห้องนอน สตูดิโอ หรือข้างนอก ?
  • ระหว่างถ่ายทำต้องเก็บช็อตอะไรบ้าง ? (ในกรณีนี้ ควรร่างไอเดียช็อตต่าง ๆ ที่อยากใช้ในวิดีโอก่อนการถ่ายทำจริง)
  • ร่างสคริปต์คร่าว ๆ ว่าต้องการจะพูดอะไรบ้าง
  • ในส่วนของการตัดต่อ ให้นึกถึงความยาวของวิดีโอ (อยากให้นานกี่นาที ?) นึกถึงดีไซน์ของหน้าปก (Thumbnail) และปัจจัยอื่น ๆ เช่น Subtitle กราฟิก เพลงประกอบ การแต่งสีวิดีโอ การมิกซ์เสียง ฯลฯ
  • วางแผน วัน/เวลา สำหรับการถ่ายทำและการตัดต่อ จนไปถึงวันที่จะอัปโหลด

สรุปสั้น ๆ ก็คือ ถ้าคุณอยากเริ่มทำวิดีโอบนยูทูป ให้เริ่มการจากคิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ และค่อยวางแผนตามผลลัพธ์ที่คุณตั้งไว้

6. สร้างตารางการอัปโหลด

ไม่ว่าจะเป็นการอัปโหลด 1 วิดีโอทุกอาทิตย์หรือทุก 2 อาทิตย์ คุณควรมีตารางการอัปโหลดที่สม่ำเสมอ เพราะมันสามารถช่วยให้คนดูจำว่าคุณจะมีคอนเทนต์ใหม่เมื่อไหร่ และสามารถเพิ่มโอกาสที่คนดูจะกลับมาดูคอนเทนต์ใหม่ของคุณ นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถช่วยให้อัลกอริทึมของยูทูปตรวจจับวิดีโอของคุณได้ดีขึ้นอีกด้วย

อีก 2 ปัจจัยหลักของการสร้างและอัปโหลดวิดีโอก็คือ “ต้นทุน” และ “ระยะเวลา” คุณต้องตัดสินใจระหว่างการอัปโหลดคอนเทนต์ถี่ ๆ ที่สามารถสร้างได้ง่าย ๆ หรือ การอัปโหลดคอนเทนต์คุณภาพสูงแต่ต้องใช้เวลานานในการสร้าง

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาหาข้อมูลว่าคนไทยดู YouTube มากที่สุดในช่วงวันและเวลาไหนก็เป็นสิ่งจำเป็น ยกตัวอย่างเช่นการอัปโหลดวิดีโอชนิด Long form จะมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่ออัปโหลดในช่วงตอนเย็น (หลังคนเลิกงาน) หรือช่วงสุดสัปดาห์ที่หลายคนพักผ่อนอยู่บ้าน หรือถ้าในแบบของ Shorts ก็ควรลงตอนช่วงที่คนกำลังไปทำงานหรือช่วงพักเที่ยง เพราะเป็นจังหวะที่คนกำลังเล่นโทรศัพท์แต่ไม่ได้ต้องการที่จะนั่งดูวิดีโอยาว ทั้งนี้แล้ว คุณก็ต้องทดลองว่าตารางอัปโหลดแบบไหนเหมาะกับช่องของคุณ หรือสามารถใช้ YouTube Analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าคนดูของคุณชอบดูวิดีโอชนิดอะไร ณ เวลาไหน และปรับตารางการอัปโหลดตามพฤติกรรมของคนดู

ณัฐ ประกอบสันติสุข
สอนการถ่ายภาพแฟชั่น

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพแฟชั่นอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทสรุป

และนี่ก็คือ 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการทำวิดีโอยูทูปสำหรับมือใหม่ เราหวังว่าคุณจะได้นำความรู้จากบทความนี้ไปปรับใช้ในการสร้างวิดีโอยูทูปของคุณและประสบควาสำเร็จ 

สำหรับเกร็ดความรู้ดี ๆ อ่านต่อได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา