Influencer คืออะไร ? เผยขั้นตอนการเป็นอินฟลูเอนเซอร์

Jan 24 / IkonClass Staff
ยุคของการใช้ Social media ได้ให้กำเนิดอาชีพใหม่นับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นก็คือการเป็น Influencer (อ่านว่า อินฟลูเอนเซอร์) ตาม Platform ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok, X, YouTube ฯลฯ ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยว่า อินฟลูเอนเซอร์คืออะไร ? เป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วสร้างรายได้ ได้จริงหรือเปล่า ? และขั้นตอนของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ จะต้องเริ่มจากอะไร ? ถ้าพร้อมแล้ว อ่านเลย !
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับช่างภาพแฟชั่นมือ 1 ของประเทศไทย

Influencer คือใคร ?

อินฟลูเอนเซอร์คือคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ชมหรือผู้ติดตามผ่านทางซื่อออนไลน์ต่าง ๆ ลักษณะของ Influencer สามารถเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว (เช่น ดารา นักแสดง) เป็นผู้ชำนาญการหรือผู้ที่มีความรู้ในบางอย่าง หรือเป็นคนที่มีบุคลิกภาพโดดเด่น ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์มักจะเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ โดยที่เจ้าของแบรนด์จะจ้าง Influencer ให้ช่วยสื่อสารสรรพคุณและชักจูงผู้ติดตามให้ซื้อสินค้า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวดเร็วและเฉพาะเจาะจง

4 ประเภทของ Influencer 

อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมักจะเลือกทำคอนเทนต์ที่ตัวเองชอบหรือถนัด และน้อยนักที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เช่น Influencer ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการถ่ายรูปหรืออุปกรณ์กล้อง ก็จะสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการถ่ายรูป Influencer ความงาม ก็จะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลความงาม หรือ Influencer เทคโนโลยี ก็จะเน้นไปที่การรีวิวผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งไม่ว่าจะทำคอนเทนต์แบบไหน อินฟลูเอนเซอร์จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักได้ตามนี้ :

Nano-Influencer

ผู้ติดตาม : 1,000 - 10,000 คน
ลักษณะ : บุคคลทั่วไปหรือบุคคลที่พึ่งเริ่มต้นในการเป็น Influencer ผู้ติดตามประกอบไปด้วยคนรู้จักใกล้ตัวที่สนิทสนม หรือจากชื่อเสียงของสังคมใกล้ตัว เช่น ประทานกลุ่มชมรม ดาวเด่นมหาลัย นักดนตรีประจำวงโรงเรียน นักกีฬาประจำโรงเรียน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการสื่อสารสินค้าจะเป็นไปแนวทาง “บอกปากต่อปาก” รู้สึกได้ถึงความจริงใจในคำแนะนำ และไม่ดูเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ

Micro-Influencer

ผู้ติดตาม : 10,000 - 100,000 คน
ลักษณะ : อินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้มีความรู้และความชอบที่ชัดเจน มีการนำเสนอคอนเทนต์ที่ดูดีและน่าสนใจ ด้วยเนื้อหาของคอนเทนต์ที่ชัดเจน ส่งผลให้ฐานแฟนคลับนั้นชัดเจน และง่ายสำหรับผู้ว่าจ้างในการเลือกกลุ่มประเภทลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง

Macro-Influencer

ผู้ติดตาม : 100,000 - 1,000,000 คน
ลักษณะ : Macro-Influencer ก็คือกลุ่มของ Micro-Influencer ที่ประสบความสำเร็จในการทำคอนเทนต์ ทำให้ได้รับผู้ติดตามมากขึ้นทั้งในกลุ่มของผู้ที่มีความรู้อยู่แล้วและผู้ที่ไม่รู้จักคอนเทนต์นั้นเลย ด้วยผู้ติดตามที่หลากหลาย ทำให้การจ้าง Macro-Influencer มีผลดีในการสร้าง Brand awareness เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์

Mega-Influencer

ผู้ติดตาม : 1,000,000 ขึ้นไป
ลักษณะ : ในกลุ่มของ Mega-Influencer มักจะเป็นดารา นักแสดง ศิลปินเพลง นางแบบ ฯลฯ ที่มีชื่อเสียงจากสายงานอาชีพ เป็นผู้นำเทรนด์ทั้งบน Social media และไลฟสไตล์ในชีวิตจริง เหมาะสำหรับแบรนด์รายใหญ่ที่ต้องการจะสร้างกระแสและโฆษณาสินค้าต่อผู้บริโภคที่หลากหลาย

อยากเป็น Influencer ต้องทำยังไง ?

ในสายงานอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ คุณจะได้มีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ติดตาม ได้แบ่งปันความรู้ แบ่งปันความชอบ และที่สำคัญก็คือโอกาสในการสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นแล้ว การเป็นอินฟลูเอนเซอร์จะต้องทำยังไงบ้าง ? เราไปดูกัน

1. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์จะต้องมีเป้าหมายและตัวตนที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายของคุณอาจจะเป็นการได้ร่วมงานกับแบรนด์ในฝัน การสร้างรายได้ การสร้างคอมมูนิตี้ ฯลฯ หลังจากนั้นให้เขียนสรุปออกมาว่าคุณต้องการจะสร้างคอนเทนต์แบบไหน หัวข้ออะไร เช่น เทคโนโลยี ไลฟสไตล์ การกิน การท่องเที่ยว ความงาม และให้นึกถึงช่องทางการสร้างรายได้ไม่ว่าจะเป็นการสปอนเซอร์ การใช้ Affiliate marketing หรืออื่น ๆ อีกหนึ่งปัจจัยหลักก็คือ “รูปลักษณ์” ของคุณ เช่น คุณต้องการให้ผู้สนับสนุนมองว่าคุณเป็นคนนิสัยอย่างไร มีไลฟสไตล์แบบไหน มีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ยังไง คิดเสียว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็เหมือนการสร้าง “แบรนด์” ขึ้นมานั่นเอง

2. หาจุดขายของตัวเอง

ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คุณจะต้องมี “จุดขาย” ที่แตกต่างจากคนอื่น :
  • นึกถึงสิ่งที่คุณชอบทำและสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าคนทั่วไป เช่น ทักษะการทำอาหาร ทักษะถ่ายรูป ทักษะการเล่นเกม ทักษะการกีฬา ทักษะการร้องเพลง ฯลฯ
  • ศึกษาอินฟลูเอนเซอร์ที่คุณชื่นชอบ ว่าเขาใช้สื่อช่องทางไหนและสร้างคอนเทนต์อะไร จากนั้นให้ลองนึกถึงสิ่งที่คุณคิดว่าขาดหายไปจากคอนเทนต์ของเขา และพยายามเติมเต็มในสิ่งนั้นภายในคอนเทนต์ของตัวเอง
  • นึกถึงเกร็ดความรู้ มุมมอง หรือผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

3. ศึกษาและกำหนดกลุ่มคนดู

อีกสิ่งสำคัญของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คือการทำความเข้าใจกลุ่มคนดูและการตั้งเป้าหมายกลุ่มคนดู เช่น :
  • กำหนดเป้าหมายของกลุ่มคนดู เช่น วัยอายุ ตำแหน่งที่ตั้ง รายได้ สายอาชีพ ความเชื่อส่วนบุคคล กิจวัตรประจำวัน
  • ศึกษาหารูปแบบคอนเทนต์ที่ผู้ติดตามหรือคนดูมีส่วนร่วมมากที่สุด
  • ศึกษาหาข้อสงสัยหรืออุปสรรคที่คนดูกำลังเผชิญ และสร้างคอนเทนต์ด้วยการนำเสนอ “ทางออก” ให้กับปัญหาต่าง ๆ

4. เลือกช่องทางที่เหมาะสม

ในปัจจุบัน ช่องทางสื่อ Social media นั้นมีหลากหลายจนตามแทบไม่ทัน ถึงแม้ว่าการโพสต์ในทุกช่องทางอาจจะเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ควรรู้ไว้ว่าแต่ละช่องทางมีกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงรูปแบบของคอนเทนต์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น :
  • Facebook : เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเยอะที่สุด เหมาะกับการสร้างคอมมูนิตี้ด้วย “เพจ” ให้ผู้ติดตามทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ติดตาม
  • TikTok / Instagram : เน้นการใช้รูปภาพและวิดีโอในการสื่อสาร เหมาะสำหรับคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่น อาหาร การท่องเที่ยว การออกกำลังกาย การเต้น ฯลฯ ซึ่ง TikTok อาจจะเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับคนรุ่น Gen-Z และคนรุ่นใหม่ เพราะด้วยการเข้าถึงคอนเทนต์ที่รวดเร็วและง่าย
  • YouTube : เหมาะสำหรับคอนเทนต์ที่ต้องมีการอธิบาย การรีวิว หรือการสอนใช้และสอนทำอะไรบางอย่างที่มีรายละเอียด
  • Twitch / Facebook live / YouTube live / Kick : เป็นแพลตฟอร์มการถ่ายทอดสด เหมาะสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับผู้ชมในเวลาจริง ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกใกล้ชิดกับอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าช่องทางอื่น ๆ

5. สร้างคอนเทนต์เป็นประจำ

เพื่อเป็นการดึงดูดผู้ติดตาม การสร้างคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันแสดงให้เห็นว่าอินฟลูเอนเซอร์ให้ความสำคัญกับผู้ชมและต้องการที่จะแบ่งปันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอินฟลูเอนเซอร์จะต้องศึกษาเวลาที่คนเข้าใช้ Social media มากที่สุดและโพสต์คอนเทนต์ในช่วงเวลานั้น หรืออีกอย่างที่สามารถทำได้ก็คือการสร้างตารางงานในการคิดคอนเทนต์ ทำคอนเทนต์ และเผยแพร่คอนเทนต์ โดยทำให้เป็นกิจวัตรของแต่ละวันหรืออาทิตย์

6. มีส่วนร่วมกับผู้ติดตาม

เมื่อคุณมีผู้ติดตามแล้ว สิ่งที่ต้องนอกเหนือจากการสร้างคอนเทนต์ก็คือการมีส่วนร่วมกับผู้ติดตาม เช่น :
  • ตอบคำถามของผู้ชมภายใต้คอมเม้นต์
  • สร้างโพลโหวตให้ผู้ติดตามช่วยเลือกอะไรบางอย่าง เช่น แนวทางคอนเทนต์ ผลิตภัณฑ์ที่อยากเห็น ฯลฯ
  • ถ่ายทอดสด
  • การแจ้งคอนเทนต์ใหม่ด้วยการโพสต์รายละเอียดคร่าว ๆ หรือการโพสต์ Highlight จากคอนเทนต์ใหม่
  • การใช้ X (Twitter) หรือ Facebook ในการพูดคุยกับผู้ติดตามในขณะที่ไม่ได้โพสต์คอนเทนต์ใหม่

7. ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

อินฟลูเอนเซอร์มือใหม่จะต้องพัฒนาทักษะต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจและน่าดู ไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องเรียนอะไรเพิ่มเติม แต่โดยรวมแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ควระจะมีทักษะดังกล่าว :
  • การใช้โปรแกรมตัดต่อรูปภาพ ตัดต่อวิดีโอ แต่งรูป เช่น Adobe Photoshop, Lightroom, Premiere Pro หรือการใช้เครื่องมือสร้างกราฟฟิคสำหรับการโพสต์อย่าง Canva
  • ทักษะการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ การจัดองค์ประกอบรูปภาพ
  • ทักษะการค้นหาข้อมูลเทรนด์ หาข้อมูลสำหรับคอนเทนต์ ทักษะในด้าน Search Engine Optimization (SEO)
  • ทักษะการสื่อสาร เช่น การเขียนบทพูด การจัดเรียงคอนเทนต์ให้เข้าใจง่าย การพูด การเขียนโพสต์ให้อ่านง่ายและได้ใจความ

ณัฐ ประกอบสันติสุข
สอนการถ่ายภาพแฟชั่น

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพแฟชั่นอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทสรุป

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณได้เข้าใจงานของ Influencer ดียิ่งขึ้น เราหวังว่าคุณจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของคุณ และถ้าหากคุณต้องการที่จะพัฒนาทักษะการถ่ายรูปแล้วล่ะก็ สามารถเรียนได้แล้ววันนี้กับช่างภาพระดับประเทศ ณัฐ ประกอบสันติสุข หรือเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา