เครื่องดนตรีไทย : เสียงเพลงจากอดีตที่ยังถูกเล่นในปัจจุบัน

Dec 4 / IkonClass Staff
หนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยก็คือเครื่องเล่นดนตรีไทย ที่ถูกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ในบทความนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับเครื่องเล่นดนตรีไทยและ 4 ประเภทหลักของเครื่องดนตรีไทย
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนศิลปะ
การแสดงมายากล
กับแพทริค คุณ

เครื่องดีด

ลักษณะของเครื่องดีดจะต้องมีที่กระพุ้งเสียงหรือที่เรียกว่า “กะโหลก” เพื่อให้เสียงดังกังวานเวลานักดนตรีดีดสาย โดยทั่วไปแล้วเครื่องดีดจะใช้นิ้วมือหรือไม้ดีดสายเป็นหลัก เครื่องดนตรีไทยประเภทดีดที่พบเห็นได้บ่อยก็คือ พิณ กระจับปี่ และจะเข้

พิณ

หนึ่งไปประเภทของพิณก็คือ “พิณน้ำเต้า” ที่มีสายเดียวและประกอบไปด้วย กะโหลกกลวง คันทวน ที่รัดอก และสาย (เส้นหวาย สายไหม หรือสายทองเหลือง) โดยที่ผู้ดีดจะต้องไม่สวมเสื้อเพราะกะโหลกพิณจะต้องประกบแนบชิดติดเนื้ออกข้างซ้าย และในขณะที่ผู้เล่นใช้มือซ้ายจับคันทวนและมือขวาดีดสาย ผู้เล่นจะต้องขยับกะโหลกน้ำเต้า เปิด-ปิด อยู่ตรงทรวงอกเพื่อให้เกิดเสียงสั่น
พิณอีสาน
อีกหนึ่งประเภทของพิณที่เป็นที่คุ้นตาก็คือ “พิณอีสาน” ที่มีลักษณะและการเล่นที่คล้ายกับกีต้าร์สากล พิณอีสานจะมีส่วนประกอบของกะโหลก คันทวน รางลูกบิด ลูกบิด หย่องบน และสายลวด 3 เส้น โดยที่ผู้เล่นจะใช้เชือกหรือผ้าผูกพิณและนำมาคล้องคอ สำหรับการเล่นเครื่องดนตรีพิณอีสาน ผู้เล่นจะมือขวาถือ “ปิค” และดีดขึ้น-ลง ในขณะที่นิ้วมือซ้ายกดที่สาย

กระจับปี่ 

กระจับปี่เป็นหนึ่งในชนิดของพิณที่มี 4 สาย มีกะโหลกเป็นกล่องแบนทรงสี่เหลี่ยมคางหมู และประกอบไปด้วยคันทวน รางลูกบิด ลูกบิด ซุ้มหย่อง หย่อง สาย หลักผูกสาย ผู้เล่นจะต้องจับไม้ดีดด้วยมือขวาและใช้นิ้วมือซ้ายกดเส้นสายไปพร้อมกัน

จะเข้

จะเข้
อีกหนึ่งเครื่องดนตรีไทยชนิดดีดที่ยังถูกพบเห็นในปัจจุบัน “จะเข้” เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดแนวนอนที่นิยมทำด้วยแก่นไม้ขนุนและไม้ฉำฉา จะเข้จะมีสาย 3 สาย ได้แก่ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่น และสายที่สาม สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง นักดนตรีจะต้องนำไม้ดีดมาพันติดกับนิวชี้มือขวา ในระหว่างที่นิ้วมือซ้ายใช้กดสายเพื่อให้เกิดเสียงตามที่ต้องการ

เครื่องสี

ซออู้ ซอด้วง
เครื่องดนตรีไทยประเภท “สี” เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้การเสียดสีระหว่างคันชักและสายเพื่อสร้างเสียง ซึ่งในดนตรีไทยจะถูกเรียกเครื่อดนตรีชนิดนนี้ว่า “ซอ” และมีอยู่ 3 ชนิดหลักด้วยกัน คือ ซอสามสาย ซออู้ และซอด้วง

ซอสามสาย

ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีไทยที่นิยมใช้บรรเลงประกอบในงานพระราชพีธีสมโภช เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงไพเราะและถือว่าเป็นเครื่องดนตรีสำหรับคนชนชั้นสูง ซอสามสายจะประกอบไปด้วยกะโหลกสำหรับอุ้มเสียง ทวนบน ทวนล่าง พรมบน พรมล่าง คัน ลูกบิด สาย 3 เส้นที่ทำด้วยเอ็นหรือไหม และถ่วงหน้าที่ติดอยู่ตรงหน้าซอสำหรับใช้ควบคุมความถี่ของเสียง ช่วยให้ซอสามสายมีเสียงที่ไพเราะและไม่อู้อี้

ซออู้

ซออู้ เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดสีที่มี 2 สาย เรียกว่าสายเอกและสายทุ้ม ประกอบไปด้วยกะโหลกที่ทำด้วยกะลามะพร้าว ใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ มีลูกบิดเพื่อพันสาย 2 อัน และคันชักร้อยเส้นหางม้า ซออู้จะให้เสียงที่ทุ้มกังวาน

ซอด้วง

ซอด้วงจะมีความคล้ายซ้ออู้ แต่ก็มีความแตกต่างอยู่ไม่น้อยซอด้วงประกอบไปด้วยกระบอกที่ช่วยอุ้มเสียงให้กังวาน ซึ่งชนิดของไม้จะให้เสียงที่แตกต่างกันไป ด้านหน้าของกระบอกจะนิยมใช้หนังงูเหลือม หนังแพะ หรือหนังลูกวัวปิด ส่วนคันซอจะมีลักษณะกลมยาว ทำด้วยงาช้างหรือไม้ ต่างจากซออู้ ซอด้วงจะให้เสียงที่สูงและแหลม

เครื่องตี

หนึ่งในเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดก็คือเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับเครื่องดนตรีไทยชนิดตี จะถูกนิยมสร้างด้วยไม้ โลหะ หรือหนัง และใช้ตีเพื่อประกอบและกำหนดจังหวะของเพลง

ระนาดเอก

ระนาดเอก
ระนาดเป็นเครื่องดนตรีที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก “กรับ” โดยปกติแล้วระนาดเอกจะทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้แก่น ลูกระนาดจะมี 21 ลูก และถูกร้อยติดกันด้วยเชือกเพื่อแขวนบนรางไม้ที่มีรูปทรงคล้ายเรือ มีด้ามหัวและท้ายโค้งขึ้นเพื่ออุ้มเสียงของระนาด ในส่วนของหัวไม้ตีจะถูกทำด้วยผ้านุ่มถักกับด้าย เมื่อตีกระทบกับลูกระนาดแล้วจะเกิดเสียงกังวานและแกร่งกร้าว

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้มเป็นวิวัฒนาการของระนาดเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประกอบไปด้วยระนาดจำนวน 16-17 ลูก มีลักษณะที่กว้างและยาวกว่าระนาดเอก ตัวรางจะมีรูปทรงคล้ายกับหีบและไม่มีเว้ากลาง มีโขนหัวและท้าย สำหรับไม้ตีของระนาดทุ้ม จะใช้ไม้ตีที่ทำจากผ้าพันพอกแบบหนา ทำให้เวลาตีจะมีเสียงที่ “ทุ้ม” 

ฆ้อง

ฆ้อง
ฆ้องเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีไทยประเภทตีที่ยังถูกเล่นในปัจจุบัน ฆ้องถูกสร้างด้วยวัสดุโลหะ มีลักษณะทรงวงกลมและปุ่มนูนตรงกลางเพื่อรองรับการตีให้เกิดเสียงต่ำและสูง หรือเรียกว่า “ปุ่มฆ้อง” ในส่วนของพื้นเรียบที่อยู่บริเวณรอบปุ่มฆ้องคือ “หลังฉัตร” และส่วนขอบที่พับลงมารอบตัวก็คือ “ใบฉัตร” ฆ้องจะถูกใช้สำหรับการดำเนินทำนองหรือกำกับจังหวะ ซึ่งฆ้องก็จะถูกแบ่งออกไปอีกหลายชนิด เช่น ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมอญ ฆ้องกระแต ฆ้องราง ฯลฯ แต่ละชนิดก็จะมีจำนวนของปุ่มฆ้องและการตั้งฆ้องที่ไม่เหมือนกัน 

ฉิ่ง/ฉาบ

ฉิ่ง
ฉิ่งและฉาบเป็นอีกประเภทของดนตรีไทยที่ใช้ตีเพื่อกำกับจังหวะ 
  • ฉิ่ง ถูกสร้างด้วยวัสดุโลหะ มีเว้ากลาง รูปร่างกลม ปากผาย คล้ายกับฝาขนมครก ในขณะที่แสดง นักดนตรีจะต้องใช้ฉิ่งสองฝาเพื่อสร้างเสียง “ฉิ่ง” จากการกระทบระหว่างขอบฝาของทั้งสองและยกขึ้น ส่วนเสียง “ฉับ” เกิดจากการกระทบและกบค้างไว้
  • ฉาบ มีลักษณะที่คล้ายกับฉิ่ง แต่ฉาบจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามากและมีปากที่หล่อบางกว่าฉิ่ง การเล่นก็ฉาบก็คล้ายคลึงกับฉิ่ง สามารถตีแบบประกบหรือแบบเปิดได้เช่นกัน

กลอง

เครื่องดนตรีไทยชนิดตีแบบสุดท้ายก็คือ “กลอง” ซึ่งถูกใช้ในการบอกสัญญาณหรือบอกจังหวะในการประกอบดนตรี กลองจะถูกเรียกว่า “หุ่น” ทำด้วยไม้และข้างในเป็นโพรง หน้ากลองมักจะถูกขึงด้วยหนัง ตรึงด้วยหมุด และโยงด้วยหวายหรือรวด การตีกลองสามารถใช้ทั้งฝ่ามือหรือไม้สำหรับการตี

กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” ส่วนหน้าด้านเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” หนังหน้ากลองทำด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” สำหรับการตี ต้องใช้ฝ่ามือทั้งสองตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก

โทน เครื่องดนตรีไทยชนิดตีที่ขึงหนังหน้าเดียว รูปร่างส่วนบนดูโตแต่ส่วนด้านล่างดูเรียว โทนจะมีอยู่ 2 แบบหลักซึ่งก็คือ “โทนมโหรี” และ “โทนชาตรี” มีความแตกต่างเล็กน้อยตรงความกว้างของหน้ากลองและวัสดุ โทนมโหรีมีหน้ากว้าง 22 เซนติเมตรและใช้ดินเผาในการสร้าง โทนมโหรีจะถูกใช้ในการเล่นวงมโหรี ส่วนโทนชาตรีจะมีหน้ากว้าง 17 เซนติเมตรและถูกสร้างด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กระท้อน ใช้สำหรับการบรรเลงเพลงประกอบละครชาตรี หรือ วงปี่พาทย์

กลองทัด เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ท่อน ภายในขุดเป็นโพรง หน้าทั้งสองข้างถูกขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควายและตรึงด้วยหมุด ชุดหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ซึ่งจะถูกตั้งอยู่ทางขวา ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” จะอยู่ทางซ้าย ก่อนจะใช้ ต้องนำข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าและติดตรงกลางหน้าล่างเพื่อถ่วงเสียง แล้วใช้ไม้ตีอีกด้านหนึ่งแทน
กลองโทน กลองแขก
ตะโพน/กลองตะโพน ตะโพนเป็นเครื่องตีที่ขึงหนัง 2 หน้า ช่วงหุ่นจะทำด้วยไม้แต่ภายในเป็นโพรง ในการใช้งานจริง ตะโพนจะถูกวางบนขาตั้งในแนวนอน ทำให้ผู้ตีสามารถตีได้ทั้งสองหน้า และในส่วนของ “กลองตะโพน” ก็คือการนำตะโพนสองลูกมาวางตะแคงลาดเข้าหาผู้ตีและใช้ไม้นวมระนาดในการตี 
ตะโพน กลองตะโพน

เครื่องเป่า

ในประเภทสุดท้ายของเครื่องดนตรีไทย เราจะพูดถึง “เครื่องเป่า” หรือก็คือเครื่องดนตรีที่ใช้ลมเป่าให้เกิดเสียงนั่นเอง ซึ่งในเครื่องดนตรีไทย เครื่องเป่าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ “ปี่” ที่มีส่วนประกอบของ “ลิ้น” ที่ทำให้เกิดเสียงเวลาโดนลมเป่า ส่วนอีกชนิดก็คือ “ขลุ่ย” ที่ไม่มีส่วนประกอบของลิ้น แต่จะใช้การเจาะรูเพื่อบังคับทิศทางลมให้เกิดเสียงขึ้นมา

ปี่

ปี่เป็นเครื่องดนตรีเป่าลมที่ทำด้วยไม้ มีการเจาะรู 6 รู สำหรับการใช้นิ้วปิดเพื่อบังคับเสียงสูง-ต่ำ ปี่จะถูกออกเป็น 3 ขนาด
  • ปี่ใน มีขนาดที่ใหญ่และยาวมากที่สุด มีเสียงที่ต่ำและใหญ่
  • ปี่กลาง นิยมใช้ในการบรรเลงเพลงประกอบหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงที่ก้ำกึ่งระหว่างปีในและปี่นอก จะไม่แหลมหรือต่ำจนเกินไป
  • ปี่นอก เป็นปี่ขนาดเล็กที่สุด ให้เสียงที่เล็กแหลม

ปี่ไฉน/ปี่ชวา เป็นปี่สองส่วนที่สามารถถอดแยกจากกันได้ ท่อนบนมีลักษณะที่เรียงยาวและมีปลายที่ผายออกเล็กน้อย ส่วนบนจะเรียกว่า “เลาปี่” และส่วนล่าง “ลำโพง” จะมีลักษณะปลายบาน ปี่ไฉนจะนิยมใช้งานในงานพระบรมศพ แต่ในปัจจุบัน ปี่ไฉนจะถูกนำมาใช้คู่กับปี่ชวาในขบวนแห่ ซึ่งปี่ชวาก็คือปี่ไฉนที่มีรูปร่างใหญ่และยาวกว่า

ขลุ่ย

วัสดุของขลุ่ยมักจะประกอบไปด้วยไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีเป่าที่ไม่มีลิ้น แต่มีรูบังคับลม 7 รู สำหรับการบังคับเสียง ขลุ่ยจะถูกแบ่งเป็น 5 ชนิดหลักได้ตามนี้
  • ขลุ่ยพล ขลุ่ยขนาดเล็กที่ไม่สามารถนำไปใช้ในการแสดงหรือร่วมวงบรรเลงได้ เหมาะสำหรับใช้เป่าเพื่อความบันเทิงหรือสำหรับการฝึกหัด
  • ขลุ่ยหลิบ ให้เสียงสูงแหลม
  • ขลุ่ยเพียงออ ให้เสียงกลางที่ไม่แหลมหรือต่ำจนเกินไป
  • ขลุ่ยอู้ ที่ให้เสียงต่ำ
  • ขลุ่ยกรวด เป็นขลุ่ยที่ให้เสียงดนตรีสากล เหมาะกับการเล่นพร้อมกับเครื่องดนตรีอย่าง ไวโอลิน ออร์แกน หรือขิม

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีชนิดขลุ่ยที่แตกแขนงยิบย่อยออกมา เช่น “ขลุ่ยนก” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบเสียงสัตว์นก ใช้ประกอบในการบรรเลงหรือวงดนตรี 
ปี่ ขลุ่ย

แพทริค คุณ
สอนศิลปะการแสดงมายากล

เรียนรู้เทคนิคการแสดงมายากลจากนักมายากลไทย ชื่อเสียงระดับโลก
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทส่งท้าย

และนี่ก็เป็นบทสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิด ที่ชาวไทยได้ใช้เล่นประกอบการละคร การแสดงดนตรี หรือในพิธีสำคัญต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน หวังว่าผู้อ่านจะได้รู้จักกับเครื่องดนตรีไทยมากยิ่งขึ้น และได้เปิดใจทดลองเล่นดนตรีไทยเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามเหล่านี้ไว้

สำหรับบทความดี ๆ อ่านเพิ่มต่อได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา