ทำความรู้จัก Cinematographer "ผู้กำกับภาพ" ที่สร้างภาพจากจินตนาการ

Jul 5 / IkonClass Staff
เวลาที่เราดูหนังแล้วเจอฉากที่สวยสะดุดตาหรือฉากที่เราอินกับตัวละครสุด ๆ นั่นคงเป็นฝีมือของ Cinematographer หรือในชื่อภาษาไทย “ผู้กำกับภาพ” ที่หลายคนนึกว่าเป็นฝีมือของผู้กำกับหนัง ในบทความนี้ IkonClass จะมาไขข้อสงสัยของหน้าที่ Cinematographer พวกเขาคือใครและมีหน้าที่อะไรในการถ่ายทำภาพยนตร์ ? ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลย !
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับช่างภาพแฟชั่นมือ 1 ของประเทศไทย

Cinematographer คือใคร ?

Cinematographer หรือในอีกชื่อเรียก Director of Photography (DoP) มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทำสื่อภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น หนังยาว ละครทีวี เอ็มวีเพลง โฆษณาทีวี ฯลฯ โดยที่ DoP จะเป็นคนกำหนดสไตล์ภาพให้คล้องจองกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ซึ่งผู้กำกับภาพจะได้ทำงานกับผู้กำกับ ตากล้อง ทีมจัดฉาก และทีมงานจัดแสงไฟ เขาจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการถ่ายทำไม่ว่าจะเป็นการเขียน Storyboard ใน Pre-production (ก่อนถ่ายทำ) การจัดกล้องและแสงไฟใน Production (ตอนถ่ายทำ) และผู้กำกับการแต่งสีภาพในช่วง Post-production (หลังถ่ายทำ)

หน้าที่หลักของ Cinematographer

ความรับผิดชอบหลักของ DoP คือการสร้างสรรค์สไตล์ภาพยนตร์ที่ดูแปลกใหม่และน่าสนใจด้วยการจัดมุมกล้อง แสง และสีในกองถ่าย พวกเขามีหน้าที่ถ่ายทอดจินตนาการของผู้กำกับออกมาอยู่บนจอ ซึ่งการจะทำเช่นนี้จะต้องอาศัยความชำนัญและความรู้ในเรื่องเทคนิคการใช้กล้อง การเลือกเลนส์ การเลือกมุมกล้อง รวมถึงการจัดองค์ประกอบของแสงไฟและฉาก เพราะฉะนั้นตำแหน่ง Cinematographer นับว่าเป็นตำแหน่งสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้อุปกรณ์และมีความคิดสร้างสรรค์สูง เป็นอาชีพที่ใช้เวลานานในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างผลงาน และอาจใช้เวลานานถึง 5-10 ปี ในการสร้างชื่อเสียง

อยากเป็น Cinematographer ต้องมีทักษะอะไร ?

ถ้าคุณมีแพชชั่นในศิลปะของการถ่ายทำภาพยนตร์ และต้องการที่จะก้าวหน้าในตำแหน่ง Cinematographer คุณจะต้องชำนาญในทักษะต่าง ๆ ดังนี้ :
  • มุมกล้อง : แต่ละมุมกล้องจะถ่ายทอดความรู้สึกและมุมมองของตัวละครไม่เหมือนกัน เช่นการถ่ายเสยขึ้นทำให้ตัวละครดูทรงพลัง นอกจากนี้แล้วมุมกล้องยังมีอิทธิพลต่อคนดูอีกด้วย เช่น การถ่ายมุมแคบระยะใกล้ชิดทำให้คนดูรู้สึกอึดอัด จะถูกใช้บ่อยในหนังสยองขวัญหรือฉากที่ตัวละครอยู่ในสภาวะวิตกกังวล
  • การเคลื่อนไหวของกล้อง : ยกตัวอย่างเช่นกล้องที่ส่ายขึ้น-ลง หรือ ส่ายไปมา อาจจะสื่อถึงสภาพแวดล้อมที่ตัวละครกำลังอยู่ อย่างเช่นบนเรือ หรือในฉากที่ตัวละครกำลังวิ่งหนีและอยู่ในสภาวะหวาดระแวง ในทางกลับกัน กล้องที่เคลื่อนไหวแบบนิ่ง ๆ อาจจะสื่อถึงสภาวะจิตใจของตัวละครที่แน่วแน่ มีความมั่นใจสูง หรือสามารถใช้ในฉากที่ต้องการให้คนดูเข้าใจ Action ต่าง ๆ ในฉากได้อย่างชัดเจน
  • เลนส์กล้อง : ผู้กำกับภาพที่ดีจะต้องรู้จักเลือกใช้เลนส์กล้อง เพราะว่าแต่ละเลนส์จะให้มุมมองและจุดโฟกัสที่ไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถสื่ออารมณ์ของตัวละครได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ในฉากที่ตัวละครกำลังร้องไห้ ถ้า DoP เลือกใช้เลนส์กว้าง คนดูก็จะไม่สามารถเห็นสีหน้าของตัวละครได้ชัดเจน หรือในฉากที่ต้องแสดงความสวยงามของเมืองหลวง แต่ว่า DoP เลือกใช้เลนส์ใกล้และถ่ายแค่ตัวละคร คนดูก็จะไม่สามารถเห็นฉากที่สวยงามได้ เพราะฉะนั้น การทำความรู้จักกับเลนส์กล้องว่าแต่ละเลนส์ให้ความรู้สึกกับคนดูยังไง และสอดคล้องกับ Action ของฉากนั้นแค่ไหนเป็นสิ่งที่ Cinematographer ทุกคนจะต้องเรียนรู้
  • แสงไฟ : ผู้กำกับภาพจะต้องทำงานร่วมกับทีมจัดไฟ เพื่อที่จะจัดองค์ประกอบแสงไฟในฉากให้ดูสมจริงและน่าสนใจ โดยที่ผู้กำกับภาพจะต้องคำนึงถึงปัจจัยของแสงอย่างเช่น สีของแสงไฟ ความสว่างของแสงไฟ การจัดวางแสงไฟระหว่างตัวละครและฉากพื้นหลัง องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้ฉากดูน่าสนใจและทำให้คนดูได้ดื่มดำกับโลกของตัวละคร
  • สตอรี่บอร์ด : นอกจากความรู้ทางด้านเทคนิคของกล้องและแสงไฟ Cinematographer จะต้องรู้จักวางแผนการถ่ายทำฉากด้วย Storyboard (สตอรี่บอร์ด) ซึ่งก็คือการวาดรูปฉากทุกฉากที่มีบนสคริปต์ใส่ลงบนกระดาษหรือกระดานบอร์ด มีจุดประสงค์สำหรับใช้ในการวางแผนการเตรียมอุปกรณ์และการถ่ายทำต่าง ๆ เช่น ชนิดกล้อง ชนิดเลนส์กล้อง การจัดฉาก การจัดแสงไฟ รวมไปถึงการกำกับนักแสดง เพราะฉะนั้นยิ่ง Storyboard ที่ DoP สร้างละเอียดและชัดเจนมากเท่าไหร่ การถ่ายทำก็จะราบรื่นไปด้วยเท่านั้น

ณัฐ ประกอบสันติสุข
สอนการถ่ายภาพแฟชั่น

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพแฟชั่นอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า Cinematographer จะต้องมีความรู้รอบด้าน ทั้งในด้านเทคนิคของการใช้กล้องและแสงไฟ รวมไปถึงการวางแผนและการสื่อสารกับผู้กำกับและทีมต่าง ๆ เราหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณได้รู้จักกับงานของ “ผู้กำกับภาพ” มากยิ่งขึ้นและได้ปลุกแพชชั่นที่จะเป็น Cinematographer มือหนึ่งของไทย

สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์และการบันเทิง อ่านต่อได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา