หลังจากได้รู้กันไปแล้วว่าเชฟคืออะไร เรามาดูกันดีกว่าว่าเส้นทางสู่การเป็นเชฟมีอะไรบ้าง แน่นอนว่าเส้นทางสู่อาชีพเชฟนั้นไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะในวงการเชฟนั้น จะมีลำดับการทำงานที่แบ่งตามขั้นประสบการณ์ ได้แก่
หัวหน้าเชฟคือตำแหน่งที่สูงที่สุดในอาชีพเชฟ หน้าที่ของผู้เป็นหัวหน้าเชฟก็คือต้องทำการบริหารจัดการซะส่วนใหญ่ ดังนั้นหัวหน้าเชฟมักจะใช้เวลาส่วนมากภายในออฟฟิศ เพราะหน้าที่ส่วนหนึ่งของ Executive Chef คือต้องจัดการคำนวณรายรับ รายจ่าย ทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ ของห้องอาหาร คิดค้นสูตรอาหารและเมนูใหม่ ๆ รวมถึงจัดการและบริหารผู้คนในทีมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการทำงาน
Sous Chef คือตำแหน่งรองเชฟใหญ่นั้น ซึ่งถือว่ามีอำนาจในการทำงานรองลงมาจากหัวหน้าเชฟ ต้องเป็นคนที่สามารถบริหารจัดการงานต่าง ๆ แทนเชฟใหญ่ได้เมื่อเชฟใหญ่ไม่อยู่ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่จัดการการวางแผนในการทำงานแต่ละวัน แตกงานให้กับเชฟคนอื่น ๆ ภายในครัว รวมถึงสอนงานเชฟคนใหม่ ๆ
ต่อมาจะเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าเชฟหรือ Demi Chef คือคนที่ใช้เวลาส่วนมากในการทำงานในครัวเป็นหลัก โดยหน้าที่คือช่วยรองเชฟใหญ่ในการบริหารทีม และดูแลการทำงานในกรณีที่มีการทำงานเป็นกะ
Commis Chef หรือ ผู้ช่วยเชฟ คือตำแหน่งแรกเริ่มสำหรับอาชีพเชฟเลยก็ว่าได้ เพราะตำแหน่งผู้ช่วยเชฟไม่จำเป็นจพต้องมีทักษะเฉพาะทางใด ๆ เปรียบเสมือนกับคนที่ทำให้เชฟสามารถทำงานได้รวดเร็วและง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมวัตถุดิบ ควบคุมดูแลความสะอาดภายในห้องครัว และตรวจสอบวัตถุดิบ ดู ๆ ไปแล้ว ก็คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า Commis Chef คือตำแหน่งที่เล็กที่สุด แต่ทว่ากลับมีความสำคัญกับทีมอย่างมาก เพราะถ้าขาดผู้ช่วยเชฟไป เชฟในครัวจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว อีกทั้งตำแหน่งผู้ช่วยเชฟเองก็มีหลายระดับเช่นกัน ตั้งแต่ผู้ช่วยธรรมดาไปจนถึงตำแหน่งพี่ใหญ่ที่คอยดูแลความเรียบร้อยโดยรวมอีกครั้ง
จากตำแหน่งต่าง ๆ ในอาชีพเชฟข้างต้น จะเห็นได้ว่าถ้าหากคุณต้องการเริ่มต้นเส้นทางในอาชีพนี้ ก็อาจจะสมัครงานในตำแหน่งผู้ช่วยเชฟก่อนได้ เพื่อเรียนรู้สิ่งพื้นฐานที่ต้องทำภายในห้องครัว สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่ได้เรียนเชฟมา อาจจะเริ่มต้นจากการสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวก่อนก็ได้ หลังจากนั้นอาจได้รับการบรรจุเป็นผู้ช่วยเชฟซึ่งเป็นลูกจ้างประจำต่อไป