จากสนามรบสู่สังเวียน ประวัติมวยไทย

Aug 2 / IkonClass Staff
ในสมัยก่อน มวยไทยถูกนับว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงที่เอาไว้ต่อกรศัตรูในสนามรบ แต่ในปัจจุบันการแพร่หลายของมวยไทยสู่สาธารณะทำให้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยกลายเป็นกีฬาที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ในบทความนี้ IkonClass จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับประวัติของมวยไทยมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ และความพิเศษของมวยไทยที่ทำให้นักสู้จากทั่วมุมโลกเคารพ ยกย่องและอยากศึกษา
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับที่สุดของวงการ

ประวัติมวยไทย

ต่างจากมวยสากลที่ใช้เพียงแค่หมัดหรือเทควันโดที่ใช้เพียงแค่ขา มวยไทยเป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่ใช้เกือบทุกส่วนของร่างกาย “นวอาวุธ” ของมวยไทยหรืออาวุธทั้งเก้า ประกอบไปด้วย สองมือ, สองเท้า, สองเข่า, สองศอก และศีรษะ รวมกันเป็นอาวุธประจำกายนักสู้ไทย ในการประลอง นักสู้จะต้องรู้จักทั้งการรุกและการป้องกันที่ถูกวิธี รวมไปถึงการใช้ท่าทาง เทคนิค ในการโจมตีจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ เพราะฉะนั้นมวยไทยจึงไม่ใช่ศิลปะที่เน้นพละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องอาศัยไหวพริบในการจู่โจมด้วย

แม่ไม้มวยไทย

ประกอบไปด้วยท่าพื้นฐาน 15 ท่า ที่ใช้ทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อโจมตีจุดอ่อนของฝั่งตรงข้าม ซึ่งต่างสำนักก็จะใช้ชื่อเรียก การออกท่า และการประยุกต์ท่าที่ต่างกันออกไป หลัก ๆ แล้ว แม่ไม้มวยไทยประกอบไปด้วย 15 ท่า ดังนี้: สลับฟันปลา ปักษาแหวกรัง ชวาซัดหอก อิเหนาแทงกริช ยอเขาพระสุเมรุ ตาเถรค้ำฟัก มอญยันหลัก ปักลูกทอย จระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา นาคาบิดหาง วิรุฬหกกลับ ดับชวาลา ขุนยักษ์จับลิง และหักคอเอราวัณ

ลูกไม้มวยไทย

เมื่อผ่านการฝึกแม่ไม้มวยไทยแล้ว นักสู้สามารถเรียนรู้กระบวนท่า “ลูกไม้มวยไทย” เพิ่มเติมได้อีก 15 ท่า ซึ่งประกอบไปด้วย: เอราวัณเสยงา บาทาลูบพักตร์ ขุนยักษ์พานาง พระรามน้าวศร ไกรสรข้ามห้วย กวางเหลียวหลัง หิรันต์ม้วนแผ่นดิน นาคมุดบาดาล หนุมานถวายแหวน ญวนทอดแหทะแยค้ำเสา หงส์ปีกหัก สักพวงมาลัย เถรกวาดลานวัด และฝานลูกบวบ

ศิลปะมวยไทยประจำภาค

ภาคเหนือ : ”มวยท่าเสา” เป็นมวยของทางภาคเหนือที่เน้นความเร็วและพละกำลัง ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามวยท่าเสากำเนิดมาจากไหน แต่ครูมวยคนแรกที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ ครูเมฆ ซึ่งเป็นครูของนายทองดีหรือพระยาพิชัยดาบหัก เอกลักษณ์ของมวยท่าเสาคือการจดมวยกว้างและทิ้งน้ำหนักตัวไว้ด้านหลัง ทำให้สามารถออกมวยได้ไกลและรวดเร็ว

กระบวนท่าของมวยท่าเสาประกอบไปด้วยการชก 15 ไม้ การเตะ 10 ไม้ การถีบ 10 ไม้ การตีเข่า 10 ไม้ และการศอก 10 ไม้ ส่วนในเรื่องของระเบียบประเพณีของมวยไทยสายท่าเสาจะต้องมีการรำไหว้ครูก่อนชกทุกครั้ง

ภาคกลาง : เมื่อพูดถึงภาคกลางก็ต้องพูดถึง “มวยลพบุรี” ที่ขึ้นชื่อเรื่องลูกล่อลูกชน เน้นการสลับระรุก-รับด้วยกลลวงและการเคลื่อนที่ว่องไวอยู่ตลอดเวลา

มวยไทยลพบุรีมีด้วยกัน 16 กระบวนท่าที่เลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่างที่อยู่ในเมืองลพบุรี มวยไทยสายลพบุรีถูกนับว่าเป็นมวยท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีอายุถึง 1,300 ปี

ภาคอีสาน : ในทางภาคอีสาน “มวยโคราช” ถือว่าเป็นมวยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเอกลักษณ์การออกหมัดที่กว้างและหนัก ทำให้มวยโคราชที่มีฉายาว่า “หมัดเหวี่ยงควาย”

การฝึกมวยไทยโคราชประกอบไปด้วยพิธียกครู การย่างสามขุมอยู่กับที่ 5 ท่า แบบเคลื่อนที่ 5 ท่า การฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกแม่ไม้สำคัญ 5 ท่า และท่าแม่ไม้โบราณ 21 ท่า

ภาคใต้ : “มวยไชยา” จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นมวยที่เน้นการป้องกันตัวแบบ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” และการจู่โจมแบบ “ทุ่ม ทับ จับ หัก” พร้อมกับการใช้กระบวนท่า 7 ท่า ได้แก่ ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด กระโดดตบศอก พันหมัดพลิกเหลี่ยม เต้นแร้งเต้นกา และย่างสามขุม

มวยไทยในแต่ละยุคสมัย

มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีประวัติยาวนาน แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามวยไทยนั้นกำเนิดในช่วงยุคไหน แต่ถ้าหากเราย้อนรอยตามประวัติศาสตร์ไทยแล้ว มวยไทยจะถูกแบ่งไปตามยุคสมัยได้ดังนี้

สมัยกรุงสุโขทัย

ในช่วงปี พ.ศ. 1781 - 1921 หรือสมัยกรุงสุโขทัย เป็นช่วงที่มีการทำสงครามเพื่อแย่งชิงอาณานิคมอยู่บ่อยครั้ง มวยไทยจึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถูกเผยแพร่และฝึกซ้อมในหมู่กษัตริย์และชายไทยที่ต้องเข้ารับราชการทหาร มวยไทยถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและความเข้มแข็งทางจิตใจก่อนการรบ ทั้งนี้นักรบในยุคสมัยสุโขทัยยังเชี่ยวชาญในการใช้ธนู หอก ดาบ มีด โล่ อีกด้วย

การเรียนมวยไทยในยุคสุโขทัยจะถูกสอนทั้งในราชสำนักสำหรับกษัตริย์ ส่วนบุคคลธรรมดาก็จะเรียนมวยไทยจากตามวัดโดยมีพระสงฆ์หรือครูมวยเป็นผู้ฝึกสอน

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงปี พ.ศ. 1893 - 2310 เป็นยุคสมัยที่สงบสุขแต่ก็มีการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าและเขมร อยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้ การฝึกฝนมวยไทยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกษัตริย์และทหารในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงยุคตอนต้น พระมหากษัตริย์ได้จัดสร้างกรมมวยหลวงเพื่อขัดเลือกนักมวยฝีมือเลิศมาเป็น “ทหารเลือก” หรือ “ทหารสนิท” เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของพระองค์ และในช่วงยุคตอนปลายก็กำเนิดนักสู้อย่าง “นายขนมต้ม” และ “พระยาพิชัยดาบหัก”

สมัยกรุงธนบุรี

ในปี พ.ศ. 2310 - 2325 หลังจากที่พระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพบ้านเมืองได้สำเร็จ ยุคสมัยกรุงธนบุรีจึงเป็นยุคที่มีการแพร่หลายของศิลปะมวยไทยเป็นอย่างมากเพื่อใช้ในการฝึกทหารอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกัน มวยไทยก็ได้กลายเป็นกีฬาเพื่อความบันเทิงที่แพร่หลาย เช่นการนำนักมวยต่างสำนักมาสู้ปะทะในสังเวียนลานดิน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

นับตั้งแต่ราชการที่ 1 เป็นต้นมา ศิลปะมวยไทยก็ได้รับความนิยมในเชิงกีฬาแข่งขันมากยิ่งขึ้น และได้มีการเผยแพร่ในยุโรปเป็นครั้งแรกในยุคสมัยของราชการที่ 6 หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ราชการที่ 6 ทรงดำเนินสร้างสนามมวยถาวรแห่งแรก ณ โรงเรียนสวนกุหลาบและให้ชื่อว่า “สนามมวยสวนกุหลาบ” ภายหลัง ในยุคสมัยของราชการที่ 8 ก็ได้มีการก่อสร้าง “สนามมวยราชดำเนิน” และได้กลายเป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

เรียนกับที่สุดแห่งทุกวงการ

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงของทุกวงการไทย
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทส่งท้าย

จะเห็นได้ว่าศิลปะการต่อสู้มวยไทยนั้นมีจุดประสงค์การใช้ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละยุคสมัย เริ่มจากสมัยยุคโบราณที่ใช้มวยไทยในการสู้รบจนกระทั่งได้เปลี่ยนมาเป็นการกีฬาในยุคปัจจุบัน แต่ถึงแม้ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม มวยไทยก็ยังคงถูกยกย่องให้เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ทรงพลังและน่าเกรงขาม

บทความล่าสุด

บทเรียนของเรา