เคล็ดลับการเลือกเนื้อวัว ส่วนไหนก็อร่อยได้ถ้าทำเป็น

May 15 / IkonClass Staff
หนึ่งในวัตถุดิบที่นักกินและเชฟทั้งหลายต่างตระเวนหานั่นก็คือ “เนื้อวัว” ชั้นเยี่ยม นอกจากรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อวัวเป็นเนื้อที่มีความฉ่ำและไม่แห้งเหมือนเนื้อไก่หรือเนื้อหมู แต่ด้วยความหลากหลายของส่วนเนื้อวัว อาจทำให้การเลือกซื้อเป็นอุปสรรคสำหรับผู้บริโภคหลายคน ในบทความนี้ IkonClass จะมาเจาะลึกแหล่งผลิตเนื้อวัวของแต่ละสายพันธุ์ ประเภท Cuts ต่าง ๆ รวมไปถึงเทคนิควิธีปรุงเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้หอมอร่อย
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass
เรียนทำอาหารไทยกับ
เชฟมิชลิน

แหล่งผลิต

แหล่งผลิตของเนื้อวัวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศ การเลี้ยงดู และพืชผักหรือหัวเชื้ออาหารที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เนื้อวัวของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งคุณภาพ เนื้อสัมผัส รสชาติ และราคา

เนื้อวัวไทย

สำหรับเนื้อวัวสัญชาติไทยก็จะมีเนื้อวัวโคขุน หรือ โคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อวัวลูกผสมไทย - ฝรั่งเศส มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เนื้อโคขุนจะให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มพร้อมกับกลิ่นหอมและรสชาติที่หวาน และอีกสายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือเนื้อวัวไทยวากิว (wagyu) เป็นเนื้อลูกครึ่งไทย - ญี่ปุ่น แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อโคขุนหรือเนื้อไทยวากิว เนื้อสัญชาติก็ไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากการควบคุมคุณภาพของเนื้อวัวที่ไม่คงที่เหมือนเนื้อวัวนอก

เนื้อวัวญี่ปุ่น

“วากิว” เมื่อแปลตรงตัวแล้วหมายถึง “เนื้อญี่ปุ่น” ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็จะมีชื่อเรียกย่อยตามถิ่นกำเนิดไปอีก เช่น “เนื้อวัวโกเบ” ที่สื่อถึงเนื้อวัวที่ถูกผลิตในเมืองโกเบ หรือ “เนื้อวัวมัตสึซากะ” ที่ถูกผลิตที่เมืองมัตสึซากะ ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวดและการเลี้ยงดูที่พิถีพิถัน ทำให้เนื้อวากิวขึ้นชื่อในเรื่องของเนื้อที่มีไขมันแทรกเยอะ (ดูได้จากลายหินอ่อน หรือ “Marbling”) ให้ความรู้สึกที่ “ละลายในปาก” และเนื้อสัมผัสที่นิ่มเมื่อรับประทาน

เนื้อวัวออสเตรเลีย

ด้วยคุณภาพของเนื้อวัวที่คงที่ ทำให้เนื้อวัวออสเตรเลียเป็นตัวเลือกเบอร์ 1 ของร้านอาหารทั่วไปจนไปถึงภัตตาคารมิชลิน และยังเป็นเนื้อวัวที่คนไทยนำเข้ามากที่สุดอีกด้วย โดยที่เนื้อออสเตรเลียจะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก : “เนื้อวัวเลี้ยงด้วยหญ้า” ที่มีไขมันต่ำและความแน่น “เนื้อวัวเลี้ยงด้วยธัญพืช” โดยที่โรงเลี้ยงจะคัดเลือกธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้วัวกิน ทำให้เนื้อวัวมีไขมันแทรกเยอะ มีความฉ่ำและให้เนื้อสัมผัสที่นุ่ม และประเภทสุดท้ายก็คือเนื้อวัวลูกครึ่ง “ออสเตรเลีย - วากิว”

เนื้อวัวสหรัฐอเมริกา

เนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกาที่ถูกรับประทานมากที่สุดก็คือเนื้อพันธุ์แองกัส (Angus) โดยที่วัวแองกัสจะกินข้าวโพดเป็นหลัก ต่างจากเนื้อวัวออสเตรเลียหรือเนื้อวัวไทยที่ให้กินหญ้าและธัญพืช เนื้อวัวแองกัสจะมีเนื้อที่แน่นและมีมันแทรกเพียงเล็กน้อย

เกรดเนื้อวัว

เมื่อทำความรู้จักกับเนื้อวัวของแต่ละประเทศแล้ว ทีนี้เราก็จะมาเรียนรู้ว่าแต่ละประเทศมีการจัดเกรดอย่างไรบ้าง เพื่อความสะดวกในการเลือกซื้อของผู้บริโภค ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีการจัดแจง Beef marbling score (BMS) หรือคะแนนไขมันแทรกที่ไม่เท่ากัน
  • เนื้อวัวญี่ปุ่น : เนื้อวากิวส่วนใหญ่มักจะใช้ตัวอักษร A-C และเลข 1-5 ในการเกรดเนื้อวากิว โดยที่เนื้อ A5 หมายถึงเนื้อที่มีคุณภาพสูงสุดและเป็นเนื้อที่มีไขมันแทรกเกิน 50% ของชิ้นเนื้อนั้น ๆ BMS ของประเทศญี่ปุ่นจะมีตั้งแต่ 0 ถึง 12 โดยที่ A1 กับ A2 นั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา A3 จะควบเอาคะแนน BMS 3 ถึง 4 มาอยู่ในแขนง A3 ตามด้วย A4 (BMS 5-8) และ A5 (BMS 9-12)
  • เนื้อวัวออสเตรเลีย : เนื้อวัวจากออสเตรเลียจะใช้ระบบการเกรด AUS-MEAT ตามด้วยเลข BMS 0-9 เลข 0 หมายถึงเนื้อที่ไม่ไขมันแทรกเลยจนไปถึงเลข 9 ที่มีไขมันแทรกเป็นจำนวนมาก
  • เนื้อวัวอเมริกา : อเมริกาจะใช้ระบบเกรดตามมาตรฐานที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้กำหนดไว้ โดยจะแบ่งเป็นสามเกรด เกรดที่สูงที่สุดก็คือ US Prime (BMS 4-5) ตามด้วย US Choice (BMS 2-3) และ US Select (BMS 0-1) ซึ่งความแตกต่างของสามเกรดนี้จะอยู่ที่ระดับของไขมันแทรกและความนุ่มของเนื้อ
ในส่วนของการเลือกเนื้อวัว ให้ดูที่ 1) สี เนื้อที่พึ่งผ่านการโดนแล่จะมีสีแดงอมม่วงและจะกลายเป็นสีแดงสดเมื่อสัมผัสกับอากาศ เนื้อที่ถูกเก็บนอกถุงสุญญากาศเป็นเวลานานจะมีสีน้ำตาลและสีเทาตามขอบเนื้อ หมายความว่าเนื้อส่วนนั้นมีถูกแล่มานานแล้ว 2) เนื้อสัมผัส เนื้อที่สดใหม่จะมีผิวสัมผัสที่เต่งตึงเมื่อถูกกด จะไม่มีสัมผัสที่นิ่มจนถึงขั้นกดแล้วยุบลงไป 3) ไขมันของเนื้อ โดยธรรมชาติ ลายไขมันของเนื้อวัวจะดูกระจัดกระจาย ต่างจากลายไขมันที่ถูกฉีดเข้าเนื้อซึ่งจะเห็นลายเส้นไขมันที่เรียงเส้นเป็นระเบียบได้อย่างชัดเจน

ส่วนของเนื้อวัว

แผนผังส่วนของเนื้อวัว
แต่ละส่วนของเนื้อวัวจะมีสัดส่วนของเนื้อและไขมันแทรกที่ไม่เท่ากัน ส่วนที่วัวใช้ออกแรงมากที่สุดมักจะมีความแข็งเมื่อเทียบกับส่วนที่วัวไม่ได้ใช้ออกกำลังเลย เพราะฉะนั้น การเลือกส่วนของเนื้อวัวจะเป็นตัวชี้วัดว่าเราควรเอาไปปรุงด้วยวิธีไหนเพื่อถนอมคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของส่วนนั้น ๆ มาดูกันว่าเนื้อวัว 8 ส่วนหลักมีอะไรและคู่ควรแก่การปรุงแบบไหนบ้าง

Chuck / สันไหล่

ลักษณะเฉพาะ : เนื้อสันไหล่เป็นส่วนที่วัวใช้เพื่อออกแรงก้มกินหญ้า เพราะฉะนั้นสันไหล่จะมีกล้ามเนื้อที่หนาและเต็มไปด้วยคอลลาเจน ทำให้เนื้อส่วนสันไหล่มีความเหนียว แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อสันไหล่ก็เต็มไปด้วยรสชาติ

วิธีทำ : เหมาะสำหรับเมนูตุ๋นที่ต้มเนื้อด้วยความร้อนเป็นเวลานาน สามารถนำไปซูวี (Sous Vide) อบ หรือทำเป็นเนื้อบด
สตูว์เนื้อสันไหล่

Brisket / ส่วนอก

ลักษณะเฉพาะ : เนื้อส่วนอกเป็นส่วนที่มีกล้ามเนื้อสูง เพราะวัวต้องใช้ส่วนอกเพื่อรองรับน้ำหนักตัว เนื้อส่วนอกจะมีความแข็งและเหนียวที่เต็มไปด้วยเนื้อเยื่อและไขมัน

วิธีทำ : คล้ายกับเนื้อสันไหล่ เนื้อส่วนอกควรนำไปใช้ในเมนูตุ๋นเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายและอ่อนตัว หรือเมนูที่ต้องใช้ความร้อนต่ำเป็นเวลานาน ในสหรัฐอเมริกา รัฐ Texas คนจะนิยมนำเนื้อส่วนอกไปทำ Brisket BBQ ส่วนคนไทยจะนำไปรมควันและทำเมนู “เสือร้องไห้”
อกเนื้อวัวย่างบาร์บีคิว

Shank / ส่วนขาหน้า

ลักษณะเฉพาะ : เนื่องจากขาเป็นส่วนที่วัวใช้ออกแรงเคลื่อนที่อยู่เป็นประจำ ทำให้ส่วนขาหน้าเป็นส่วนที่เนื้อเหนียวที่สุดในบรรดาเนื้อวัวและมีไขมันน้อยที่สุด

วิธีทำ : เนื่องจากความเหนียวและไขมันที่น้อย คนมักจะไม่นิยมนำส่วนขาหน้าของวัวไปประกอบอาหาร แต่ก็จะมีอาหารของชาวตะวันตกที่นำขาหน้าไปตัดแบ่งเป็นท่อน ปรุงด้วยเครื่องเทศ และนำไปต้ม อบ หรือย่างจนไขกระดูกกลายเป็นเจลาติน (Bone marrow) หรือในเมนูซุปบางประเภท เชฟก็จะใช้ส่วน Bone marrow เพื่อช่วยชูรสชาติในน้ำซุปสต๊อก
ไขกระดูกวัวย่าง

Rib / ซี่โครง

ลักษณะเฉพาะ : ซี่โครงเป็นส่วนที่มีรสชาติเข้มข้นและอร่อยมากที่สุด เป็นเพราะว่าวัวไม่ได้ใช้ส่วนซี่โครงในการออกแรงเคลื่อนที่เมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ทำให้ซี่โครงมีไขมันแทรกเยอะ เนื้อสัมผัสนิ่มและเต็มเปี่ยมไปด้วยความฉุ่มฉ่ำของไขมันแทรก

วิธีทำ : เมนูที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยอยู่แล้วก็คือ Ribeye steak หรือในชื่อภาษาไทย “สเต็กริบอาย” เวลาที่เราไปร้านขายเนื้อ เราสามารถขอให้ทางร้านตัด Ribeye ของเราได้หลายวิธี เช่น Caveman Ribeye, Prime Rib หรือ Boneless Rib ซึ่งการตัดเหล่านี้จะส่งผลต่อรสชาติของ Ribeye เรา สเต๊ก Ribeye จะเน้นปรุงสุกที่ระดับ Medium rare หรือ Medium well เพื่อคงความนิ่มและไขมันแทรกของ Ribeye
สเต็ก Ribeye กับเครื่องเคียงผัก

Plate / ส่วนท้อง

ลักษณะเฉพาะ : Plate หรือ short plate เป็นเนื้อที่มาจากส่วนท้องของวัว ประกอบไปด้วยไขมันเยอะและเนื้อสัมผัสที่หนา

วิธีทำ : เนื้อส่วนท้องมักจะถูกนำไปสับละเอียดเป็นเนื้อวัวบด (Ground beef) หรือสามารถสั่งตัดแบบ Hanger Steak เพื่อนำไปทำสเต็ก หรือ Skirt Steak เพื่อนำไปสไลด์บางและประกอบในเมนูผัดที่ใช้ไฟแรงสูง
เนื้อวัวผัดเสิร์ฟพร้อมแป้งทาโก้

Loin / สัน

ลักษณะเฉพาะ : ส่วนสันเป็นส่วนที่วัวแทบจะไม่ได้ใช้งาน ทำให้เนื้อส่วนนี้มีความนุ่มเป็นพิเศษ แต่จะไม่มีไขมันแทรกเยอะเหมือน Ribeye และส่วนอื่น ๆ ด้วยความนิ่มของสันและรสชาติที่อร่อย ทำให้เนื้อส่วนสันเป็นส่วนที่แพงกว่าส่วนอื่น เนื้อสันจะถูกแบ่งแยกออกมาเป็น Short loin, Sirloin, Tenderloin, Top sirloin และ Bottom sirloin

วิธีทำ : นิยมนำไปย่างเพื่อทำเป็นสเต็ก เช่น ส่วน Tenderloin จะถูกนิยมนำไปทำสเต็ก Filet Mignon มีเนื้อสัมผัสนุ่มและมันน้อย หรือถ้าหากต้องการไขมันแทรกก็สามารถสั่ง New York Strip หรือ T-bone ที่มาจากส่วนของสันนอก 
เนื้อสันนอกฟิเลมิยองบนเตาย่าง

Flank / ท้องส่วนล่าง

ลักษณะเฉพาะ : เนื้อจากท้องส่วนล่างเป็นเนื้อที่ค่อนข้างแข็งและความเหนียวหากถูกปรุงจนสุกเกินไป แต่เนื้อ Flank เป็นเนื้อที่มีลายขรุขระ ทำให้เหมาะกับการหมักเพราะเครื่องเทศหรือซอสจากแทรกเข้าไปในตัวก้อนเนื้อได้ดี

วิธีทำ : เนื้อท้องส่วนล่างสามารถนำไปประกอบเมนูผัด ย่าง หรือนำไปสับละเอียดให้เป็นเนื้อบด
สเต็กเนื้อวัวส่วนท้อง

Round / สะโพก

ลักษณะเฉพาะ : ส่วนสะโพกอยู่ใกล้กับขาหลังของวัวที่ถูกใช้งานบ่อย ทำให้เนื้อส่วนบั้นท้ายของวัวมีความลีน มีไขมันแทรกน้อย และมีเนื้อสัมผัสที่เหนียว สะโพกจะถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลักซึ่งก็คือ Top round (สะโพกส่วนบน) และ Bottom round (สะโพกส่วนล้าง)

วิธีทำ : ความเหนียวของเนื้อ เหมาะที่จะถูกย่างด้วยไฟอ่อนให้ได้ความสุกระดับ Medium rare หรือนำไปสไลด์และปรุงสุกในเมนูแซนวิช “Philly Cheesesteak” 
แซนวิชฟิลลี่ชีสเสต็ก

เชฟต้น
สอนการทำอาหารไทยสไตล์โมเดิร์น

เรียนรู้เทคนิคการทำอาหารไทย จากเชฟระดับมิชลิน
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass

บทสรุป

หวังว่าทุกคนจะเข้าใจเอกลักษณ์แต่ละส่วนของเนื้อวัวมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจไม่ว่าคุณจะซื้อเนื้อวัวมาทำเองที่บ้านหรือสั่งกินในร้านอาหาร ทั้งนี้ วัตถุดิบเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ถ้าคุณต้องการที่จะยกระดับฝีมือการทำอาหาร คุณสามารถเริ่มเรียนกับเชฟมิชลินอย่าง เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร ได้แล้ววันนี้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

บทเรียนของเรา