10 ประเภทร้านอาหาร นักชิมต้องลอง เจ้าของร้านต้องรู้

May 29 / IkonClass Staff
ประเภทร้านอาหารบ่งชี้ถึงราคา เมนู และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะคุณจะเป็นนักชิมหรือผู้ประกอบการ การทำความคุ้นชินกับประเภทร้านอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่รู้ไม่ได้ ในบทความนี้ IkonClass จะมาแนะนำ 10 ประเภทหลักของร้านอาหารที่ทุกคนควรรู้จัก
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass
เรียนทำอาหารไทยกับ
เชฟมิชลิน

ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง (Fine dining)

ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง หรือ Fine dining คือร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งใส่ใจในการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงสุด รวมไปถึงภาชนะที่ใช้ตกแต่งอาหารและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งบรรยากาศภายในร้าน พร้อมกับการบริการอย่างใกล้ชิดจากพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งความใส่ใจเหล่านี้ทำให้ร้านราคาต่อหัวที่สูงเพื่อแลกกับประสบการณ์การทานอาหารที่พิเศษ ในปัจจุบัน หลายคนอื่นจะคุ้นชินกับภาพของร้านหรูที่เสิร์ฟอาหารต่างชาติอย่าง อาหารฝรั่งเศส หรืออิตาเลี่ยน แต่ปัจจุบันนี้เรามี Fine dining ที่เสิร์ฟอาหารไทยแบบยกระดับ เช่น Le Du และ Nusara ของเชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร หรือ เชฟต้น Top Chef น้่นเอง

Chef’s table & โอมากาเสะ

Chef’s table คือร้านอาหารที่เชฟเลือกเมนูและวัตถุดิบให้กับผู้ที่มาทานอาหาร หรือในบางร้านลูกค้าก็สามารถเลือกวัตถุดิบเองได้ หลักการของร้านอาหารสไตล์ Chef’s table คือการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับประทานอาหารที่เชฟเลือกและปรุงให้ด้วยตัวเอง มีการจัดโต๊ะให้ผู้ทานได้นั่งใกล้ชิดกับโซนครัวเพื่อให้ลูกค้าได้พูดคุยถึงเรื่องราวหรือแนวคิดของเมนูจากเชฟและได้รับชมวิธีการทำอาหารของเชฟไปด้วย สำหรับร้านอาหาร Chef’s table หรือ โอมากาเสะ จำนวนลูกค้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 คนต่อวันเพื่อให้ประสบการณ์อาหารมีความพิเศษและเป็นส่วนตัว

และอีกประเภทร้านอาหารที่ใกล้เคียงสไตล์ Chef’s table ก็คือร้านอาหารโอมากาเสะ (Omakase) ที่นิยมใช้วัตถุดิบสดต่อวันเพื่อนำมาประกอบเมนูอาหารญี่ปุ่นอย่างข้าวปั้นหน้าปลาดิบ ซาซิมิ เมนูทอด เมนูซุป ฯลฯ แต่จะต่างจาก Chef’s table ตรงที่ ในร้านโอมากาเสะ ลูกค้าไม่สามารถเลือกวัตถุดิบหรือเมนูได้เลย เพราะเชฟจะเป็นคนเลือกวัตถุดิบและกรรมวิธีที่เหมาะสมที่สุดให้กับเมนู

อาหารสตรีทฟู้ด

ขึ้นชื่อเรื่องราคาที่ย่อมเยาเนื่องด้วยต้นทุนที่ถูก สตรีทฟู้ดเป็นอาหารประเภททำง่าย ไม่อาศัยความพิถีพิถันและเป็นเมนูที่เยียวยาจิตใจ (comfort food) ของใครหลาย ๆ คน อีกทั้งยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการชิมอาหารไทยที่หลากหลายในสถานที่เดียว อาหารสตรีทฟู้ดนอกจากอาหารจานหลักแล้วยังจะรวมไปถึงอาหารทานเล่นอย่างของทอด และของหวาน

ร้านอาหารครอบครัว

ร้านอาหารครอบครัวมักจะมีสไตล์การทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของครอบครัว ทำให้เกิดการถ่ายทอดสูตรอาหารสู่รุ่นต่อรุ่นเพื่อคงรสชาติของต้นตำรับ บางครอบครัวก็ประยุกต์พื้นที่ของตึกแถวที่ตนอยู่อาศัยมาเป็นร้านอาหาร บางครอบครัวก็เช่าห้องเช่าและตกแต่งเป็นร้านอาหารภัตตาคารอย่างเต็มตัว สำหรับผู้ประกอบการ การโฆษณา “สูตรต้นตำรับ” ของร้านตัวเองอาจเป็นจุดดึงดูดลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม

ร้านอาหารประจำชาติ

ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้ร้านอาหารในไทยกำเนิด “ร้านอาหารประจำชาติ” ที่ถูกก่อตั้งและบริหารโดยเจ้าของสัญชาติอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่นร้านอาหารอินเดีย ร้านอาหารเลบานอน ร้านอาหารเยอรมนี ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารจีน หรือแม้แต่อาหารที่มาจากแดนไกลอย่าง กรีก และ เอธิโอเปีย ก็มีให้เลือกรับประทาน โดยจุดเด่นของ “ร้านอาหารประจำชาติ” คือการตกแต่งร้านด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ พร้อมกับการเสิร์ฟอาหารประจำชาติที่ไม่สามารถหาได้ในร้านอาหารทั่วไป เหมาะกับคนที่อยากลองรสชาติอาหารใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปจากรสชาติของอาหารไทย

ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด

อีกหนึ่งประเภทร้านอาหารที่เติบโตอยู่ตลอดเวลาเพราะแทบจะมีติดเกือบทุกปั๊มน้ำมัน โดยที่จริงแล้วร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่จำเป็นจะต้องเป็นแฮมเบอร์เกอร์หรือไก่ทอดเสมอไป แต่อาหารฟาสต์ฟู้ดคืออาหารที่ถูกปรุงไว้ล่วงหน้าในจำนวนเยอะเพื่อความรวดเร็วในการเสิร์ฟ ซึ่งอาหารฟาสต์ฟู้ดมักจะเน้นการบริการผ่านการซื้อและรับอาหารผ่านเคาน์เตอร์หรือช่องขับรถ “Drive-thru”

ร้านคาเฟ่

คาเฟ่เป็นร้านอีกประเภทที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและคนที่ชอบเที่ยว ด้วยสไตล์การตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดให้ผู้คนมาถ่ายรูปพร้อมเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่สไตล์อาหารบรันช์ คาเฟ่กาแฟสด คาเฟ่ชาเขียวมัทฉะ คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ทำให้คาเฟ่เป็นจุดดึงดูดสำหรับ Food bloggers ที่ชอบถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย และสำหรับคนที่ชอบตระเวนหาร้านแปลกใหม่ในราคาที่จับต้องได้

ร้านบาร์

เป็นที่รู้กันดีว่าร้านบาร์นิยมเสิร์ฟอาหารประเภท “กับแกล้ม” หรือบางครั้งก็เป็นเมนูอาหารคาวเต็มตัวให้ลูกค้าได้รับประทานคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการตกแต่งร้านด้วยไฟสลัว บางร้านอาจมีการแสดงดนตรีสด ร้านบาร์จะเน้นขายเครื่องดื่มมากกว่าอาหาร ซึ่งอาหารของแต่ละบาร์ก็จะไม่เหมือนกัน บางร้านอาจจะเสิร์ฟแค่อาหารไทย บางร้านอาจจะเสิร์ฟอาหารฝรั่ง หรือบ้างร้านอาจมีแค่บริการเครื่องดื่มและกับแกล้มเท่านั้น 

ร้านบุฟเฟ่ต์

อีกหนึ่งประเภทร้านอาหารที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ “ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์” ที่มีราคาอาหารและค่าบริการที่คงที่ เพียงแค่ลูกค้าจ่ายราคาเดียวก็สามารถรับประทานอาหารได้อย่างไม่อั้นภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งราคาของบุฟเฟ่ต์ก็จะแตกต่างกันไปตามคุณภาพและราคาของวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร เหมาะสำหรับนักกินจุที่มองหาความคุ้มค่าในการทานอาหาร

Cloud kitchen

และท้ายที่สุด “Cloud kitchen” หรือในอีกชื่อ “Ghost kitchen” หรือ “Virtual kitchen” เป็นไอเดียของการทำร้านอาหารที่ได้รับความนิยมในช่วง New normal ซึ่งร้านอาหารแบบ Cloud kitchen จะไม่มีการจัดโต๊ะหน้าร้านให้ลูกค้านั่ง แต่จะเป็นการทำอาหารต่อออเดอร์และจัดส่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการ Cloud kitchen จะไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าเช่าที่และมุ่งมั่นแค่ในส่วนของการทำอาหาร

เชฟต้น
สอนการทำอาหารไทยสไตล์โมเดิร์น

เรียนรู้เทคนิคการทำอาหารไทย จากเชฟระดับมิชลิน
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass

บทส่งท้าย

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่คนที่กำลังมองหาไอเดียเปิดร้านอาหาร หรือสำหรับคนที่กำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ในการทานอาหาร แต่ถ้าคุณต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำอาหารและการบริหารร้านอาหารแล้วล่ะก็ ห้ามพลาดคอร์สเรียนทำอาหารกับเชฟมิชลิน เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

บทเรียนของเรา